ภาวะแทรกซ้อนและการรักษาโรคเก๊าท์

กลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรังเมื่อไม่ไปพบแพทย์อย่างต่อเนื่อง หรือเกิดปุ่มผลึกกรดยูริกในเนื้อเยื่อต่าง ๆ จนส่งผลเสียต่อบุคลิกและภาพลักษณ์

ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้เกิดภาวะข้อพิการ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ (พบได้ประมาณ 25%) ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะแทรกซ้อนตามมาได้

ผู้ป่วยโรคเกาต์มักจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง และภาวะหลอดเลือดแดงแข็งมากกว่าคนปกติ (สันนิษฐานว่าอาจมีความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ของโรคเหล่านี้ร่วมกับโรคเกาต์) และถ้าหากผู้ป่วยไม่ได้ควบคุมโรคเหล่านี้ให้ดี ปล่อยให้เป็นแบบเรื้อรัง ในที่สุดก็อาจจะกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมองตีบ และไตวายจนเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยและรักษาโรคเก๊าท์

แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคเก๊าท์นี้ได้โดยดูจากประวัติอาการต่าง ๆ ประวัติการรับประทานอาหารหรือยาบางชนิด ประวัติการเป็นโรคเกาต์ของคนในครอบครัว การเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ การตรวจร่างกาย ซึ่งข้อที่ปวดของผู้ป่วยจะมีลักษณะบวมแดงร้อน ผู้ป่วยอาจมีไข้ร่วมด้วย ในบางรายอาจพบตุ่มโทฟัส และการตรวจเลือดเพื่อดูระดับของกรดยูริก อาจมีตรวจภาพข้อที่เกิดโรคด้วยการเอกซเรย์ด้วยในบางราย แต่ที่แน่นอน คือ แพทย์จะเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งถ้าพบผลึกของยูเรตแพทย์ก็จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์

อาการข้ออักเสบเฉียบพลันแบบโรคเกาต์ หากตรวจพบระดับยูริกในเลือดปกติ แพทย์จะเจาะดูดน้ำจากข้อไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ด้วย ถ้าพบผลึกของยูเรตแพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ แต่ถ้าสิ่งที่ตรวจพบเป็นผลึกของแคลเซียมไพโรฟอสเฟต (Calcium pyrophosphate) แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคเกาต์เทียม” (Pseudogout) ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีอาการไข้ ปวดข้อ ข้ออักเสบเฉียบพลันกำเริบเป็นครั้งคราวคล้ายโรคเกาต์ แต่โรคนี้ส่วนใหญ่แล้วจะทุเลาลงได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ในเรื่องนี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงอย่างละเอียดในบทความต่อไป)

สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  http://www.delicate-care.com